สุริยปฏิทิน ปราสาทภูเพ็ก จังหวัดสกลนคร
ที่พักสกลนคร{ พบ 3 รายการ }
เดอะ คัลเลอร์ วิลล์ รีสอร์ทเดอะ คัลเลอร์ วิลล์ รีสอร์ท สกลนคร The Color Ville Resort เข้าชม: 1000 | ความคิดเห็น: 0
หอพักโชคดีบรรยากาศแบบ คลาสสิค อากาศถ่ายเทสะดวก สะอาด ปลอดภัย ห่างจากเข้าชม: 1008 | ความคิดเห็น: 0
เมธี รีสอร์ทที่พักในอำเภอเมืองสกลนคร ห่างจากมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนครเพียงเข้าชม: 992 | ความคิดเห็น: 0
รายละเอียดแหล่งท่องเที่ยว
ยามแสงเรื่อเรืองอาบไล้ปราสาทหินเก่าแก่ที่อวลด้วยกลิ่นอายศิลปะขอม ไม่ใช่เพียงแค่ความงดงามศักดิ์สิทธิ์ หากยังปรากฏความอัศจรรย์ลงบนแท่งหินอายุนับ 1,000 ปี ที่เป็นเครื่องบ่งบอกคืนวันและฤกษ์ยามในการดำเนินชีวิตของบรรรพชนที่ผูกร้อยอยู่กับดวงตะวัน
ในบริเวณปราสาทภูเพ็ก ซึ่งอยู่บนยอดเขาหินทรายบนเทือกเขาภูพาน เขตอุทยานแห่งชาติภูพาน และตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ปรากฎแท่นหินทราย ขนาด 56 X 56 เซนติเมตร สูง 60 เซนติเมตร ด้านบนมีการแกะสลักเป็นรูปสี่เหลี่ยมเรียงรอบเป็นรูปทรงเรขาคณิตจำนวน 16 ช่อง ใช้ตามติดตามตำแหน่งของดวงอาทิตย์ จากทิศทางของแสง จะได้ทราบฤดูกาลและกำหนดเวลาทำการเกษตร การก่อสร้างได้
นักพิภพวิทยาท่านหนึ่ง คือ คุณสรรค์สนธิ บุณโยทยาน สนใจศึกษาการใช้แท่งหินนี้ และนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาประมวลผลด้านดาราศาสตร์ พบว่าเมื่อใส่ข้อมูลพิกัดตำแหน่งของปราสาท เส้นรุ้งที่ 17 องศาเหนือ และใส่วันที่ปรากฏการณ์สำคัญต่างๆ จะได้มุมกวาดเป็น 65, 90 และ 115 องศา ซึ่งเป็นตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้นหมุนเวียน โดยในวันเริ่มต้นของปี จะเป็นวันที่เวลากลางวันจะเท่ากับเวลากลางคืน ดวงอาทิตย์ทำมุมฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม เป็นฤดูใบไม้ผลิ หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะค่อยๆ เคลื่อนไปทางทิศเหนือ จนถึงจุดที่ไกลที่สุด ซึ่งจะเป็นวันที่กลางวันจะยาวที่สุด ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน จัดว่าเป็นฤดูร้อน จ.สกลนคร อยู่เส้นรุ้ง 17 องศาเหนือ กลางวันจะมี 13 ชั่วโมง ขณะเดียวกันเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมาถึงจุดที่ไกลที่สุดทางทิศใต้ ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี ตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว จ. สกลนคร จะมี 11 ชั่วโมง ได้มีการทดสอบแนวแสงอาทิตย์ด้วยลูกดิ่งหลายครั้งพบว่า แนวแสงจะพาดผ่านช่องสี่เหลี่ยมช่องใดช่องหนึ่งพอดี เมื่อตรงกับวันที่ดังกล่าวข้างต้น
เพราะฉะนั้นตำแหน่งที่ใช้ก่อสร้างปราสาทขอม ซึ่งรวมถึงปราสาทภูเพ็ก จึงต้องเป็นบริเวณที่โล่งแจ้ง ไม่มีสิ่งรกร้าง ที่จะกั้นแสงอาทิตย์ได้ การสร้างปราสาทหินภูเพ็กนี้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ประมาณปี พ.ศ. 1742 สร้างจากก้อนหินทรายทรงสี่เหลี่ยม วางทำมุมฉาก ตามแนวทิศตะวันออก-ตก มีศิวลึงค์อยู่ด้านตะวันออก โดยมีด้านเปิดให้แสงอาทิตย์เข้าไปเพียงด้านเดียว ให้แสงสาดตรงที่ ณ ตำแหน่งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในปราสาท ซึ่งแสดงถึงศาสตร์แห่งสุริยปฏิทินของขอมโบราณ อย่างไรก็ดี ยังไม่มีผู้ใดทราบถึงสาเหตุที่ว่าเหตุใดปราสาทหินภูเพ็กแห่งนี้ จึงสร้างไม่เสร็จ
สินค้า 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ (OTOP)
งานผ้าทอมือ ทั้งผ้าฝ้าย ผ้าไหม และผ้าขิด ซึ่งย้อมด้วยสีธรรมชาติจากเปลือกไม้ ที่หมู่บ้านทอผ้าบ้านวาใหญ่และบ้านดอนแดง อำเภออากาศอำนวย
การเดินทาง
จากตัวเมืองสกลนครใช้ทางหลวงหมายเลข 222 ไปประมาณ 22 กิโลเมตร หลังจากนั้นแยกซ้ายเข้าบ้านนาหัวบ่ออีกประมาณ 14 กิโลเมตร
ข้อมูลการติดต่อ
สำนักงาน ททท. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขต 4 หมายเลขโทรศัพท์ 0 4251 3490-1
ศูนย์บริการข้อมูลท่องเที่ยว (Call Center) 1147
ข้อแนะนำ
สำหรับผู้ที่เดินทางไปชมสุริยปฏิทินที่ปราสาทภูเพ็กนั้น ควรเดินทางไปให้ตรงกับวันสำคัญที่ปรากฏ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจในความยิ่งใหญ่ของอดีต ได้แก่ ครีษมายัน ตรงกับวันที่มีกลางวันยาวนานที่สุดคือ 13 ชั่วโมง ในวันที่ 22 มิถุนายน
ศารทวิษุวัตและวสันตวิษุวัต ตรงกับวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันพอดีคือ 12 ชั่วโมง ในวันที่ 23 กันยายน และ 21 มีนาคม
เหมายัน ตรงกับวันที่กลางคืนยาวที่สุดคือ 13 ชั่วโมง ในวันที่ 21 ธันวาคม
แหล่งข้อมูล
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)