จังหวัดอุตรดิตถ์
:ข้อมูลทั่วไป
ที่พักอุตรดิตถ์{ พบ 0 รายการ }
เหล็กน้ำพี้ลือเลื่อง เมืองลางสาดหวาน
บ้านพระยาพิชัยดาบหัก ถิ่นสักใหญ่ของโลก
จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ทางภาคเหนือตอนล่าง ได้ชื่อว่าเมืองแห่งพระแท่นศิลาอาสน์ ตำนานอันลึกลับของเมืองลับแล ดินแดนแห่งลางสาดหวานหอม และบ้านเกิดของพระยาพิชัยดาบหัก ขุนศึกคู่บารมีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
อุตรดิตถ์เป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มายาวนาน โดยมีการค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ในสมัยอยุธยาและสมัยธนบุรีนั้น อุตรดิตถ์มีเมืองสำคัญคือเมืองพิชัยและเมืองสวางคบุรีซึ่งเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ (ซึ่งทั้งสองเมืองนั้นเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย)
เดิมทีตัวเมืองอุตรดิตถ์ในปัจจุบันนี้เป็นเพียงตำบลชื่อ "บางโพธิ์ท่าอิฐ" ขึ้นกับเมืองพิชัย แต่เพราะบางโพธิ์ท่าอิฐซึ่งอยู่ริมฝั่งขวาของแม่น้ำน่านมีความเจริญรวดเร็ว เพราะเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าสำคัญในหัวเมืองฝ่ายเหนือ ดังนั้นในสมัยรัชกาลที่ 5 พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะตำบลบางโพธิ์ท่าอิฐขึ้นเป็นเมือง "อุตรดิตถ์" ซึ่งมีความหมายว่าท่าน้ำแห่งทิศเหนือ แต่ยังคงขึ้นกับเมืองพิชัยอยู่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เมืองอุตรดิตถ์มีความเจริญขึ้นมากกว่าเมืองพิชัย เมืองอุตรดิตถ์จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัด และเมืองพิชัยเลื่อนลงไปเป็นอำเภอหนึ่งขึ้นกับจังหวัดอุตรดิตถ์จนทุกวันนี้
ประวัติศาสตร์
ประวัติความเป็นมาต้นกำเนิดของจังหวัดอุตรดิตถ์มีแหล่งกำเนิดมาจากท่าน้ำที่สำคัญ 3 ท่า คือ ท่าเซา ท่าอิด และท่าโพธิ์ ซึ่งมีความสำคัญและเจริญรุ่งเรืองมาแต่สมัยขอมปกครองท่าอิด ตั้งแต่ พ.ศ. 1400 คำว่า อุตรดิตถ์ เดิมเขียน เป็น อุตรดิษฐ์ (อุตร-เหนือ, ดิตถ์-ท่าน้ำ) เป็นคำที่ตั้งขึ้นในภายหลัง โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งราชวงศ์จักรีพระราชทานนามไว้เมื่อ พ.ศ. 2395 แปลว่า "ท่าเรือด้านทิศเหนือของสยามประเทศ"
ท่าอิด คือ บริเวณท่าอิฐบนและท่าอิฐล่างปัจจุบัน
ท่าโพธิ์ คือ บริเวณวัดท่าถนน ตลาดบางโพ เนื่องจากมีต้นโพธิ์มาก มีคลองไหลผ่าน เรียกว่า คลองบางโพธิ์ (เพี้ยนมาเป็นบางโพ)
ท่าเซา คือ บริเวณตลาดท่าเสา (เซา เป็นภาษาเหนือ แปลว่า "พักนอน")
ท่าอิด (อิด แปลว่า "เหนื่อย") เนื่องจากการเดินทางมาค้าขายที่ท่าอิดทางเรือ และทางบกของจังหวัดภาคเหนือและภาคกลางสมัยโบราณ กว่าจะถึงก็เหนื่อย ท่าอิดเป็นท่าที่มีความเจริญทางการค้ามากกว่าทุกท่าในภาคเหนือ เป็นท่าจอดเรือ ค้าขายจากมณฑลภาคเหนือและภาคกลางรวมถึงเชียงตุงเชียงแสนหัวพันทั้งห้าทั้งหกสิบสองปันนาสิบสองจุไทย เดิมท่าอิดอยู่ในความปกครองของขอมตลอดจน ถึงสมัยสุโขทัย ขอมหมดอำนาจ ท่าอิดจึงเป็นเมืองท่าขึ้นอยู่กับเมืองทุ่งยั้ง อันเป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัย สมัยต่อมาแควน่านได้เปลี่ยนทางเดิน ทำให้หาดท่าอิดงอกออกไปทางตะวันออกมากทุก ๆ ปี ท่าอิดจึงเลื่อนตามลงไปเรื่อย ๆ เรียกว่าหาดท่าอิดล่าง ท่าอิดเดิมเรียกว่าท่าอิดบน ท่าอิดล่างก็ยังคงเป็นศูนย์การค้ามาตลอดจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชท่าอิดมีความเกี่ยวพันกับเมืองพิชัยอย่างแน่นแฟ้น โดยใช้เป็นที่พักทุกครั้งที่กรีธาทัพผ่านมาและใช้เป็นที่รวบรวมทัพก่อนขึ้นตีหัวเมืองฝ่ายเหนือและล้านนา สมัยก่อนนั้น การเดินทางและการขนส่งสินค้าเพื่อนำมาขายทางตอนเหนือมีสะดวกอยู่ทางเดียวคือ ทางน้ำ แม่น้ำที่สามารถให้เรือสินค้ารวมทั้งเรือสำเภาขึ้นลงได้สะดวกถึงภาคเหนือตอนล่างก็มีแม่น้ำน่านเท่านั้น เรือสินค้าที่มาจากกรุงเทพฯ หรือกรุงศรีอยุธยาก็จะขึ้นมาได้ถึงบางโพท่าอิฐเท่านั้น เพราะเหนือขึ้นไปแม่น้ำจะตื้นเขินและมีเกาะแก่งมาก ฉะนั้นตำบลบางโพท่าอิฐจึงเป็นย่านการค้าที่สำคัญ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวท่าอิดยังคงมีฐานะย่านการค้าขึ้นต่อเมืองพิชัย สถานที่ราชการต่าง ๆ ตั้งอยู่ที่เมืองพิชัย แต่ย่านการค้าอยู่ที่ท่าอิด ดังนั้น คดีต่าง ๆ ที่เกิดขั้นรวมทั้งการเก็บภาษีอากรส่วนใหญ่จึงอยู่ที่ท่าอิด ราษฎรต้องลงไปเมืองพิชัยติดต่อกับส่วนราชการเป็นการไม่สะดวก ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองพิชัย ท่าอิด เมืองทุ่งยั้ง และเมืองลับแล ทรงเห็นว่าท่าอิดมีความเจริญ เป็นศูนย์ทางการค้า ประกอบกับมีเมืองลับแลอยู่ใกล้ ๆ เป็นเมืองรองลงไป การชำระคดีและการเรียกเก็บภาษีอากรสะดวกกว่าที่เมืองพิชัย จึงโปรดฯ ให้ย้ายเมืองพิชัยมาตั้งที่บริเวณท่าอิด ส่วนเมืองพิชัยเดิมว่าเรียกว่าเมืองพิชัยเก่า
พ.ศ. 2446 พวกเงี้ยวก่อการจลาจลที่เมืองแพร่ โดยมีประกาหม่องหัวหน้าเงี้ยวตั้งตนเป็นใหญ่ คบคิดกับเจ้าเทพวงศ์เจ้าผู้ครองนครแพร่ จับพระยาสุรราชฤทธานนท์ข้าหลวงประจำมณฑลกับข้าราชการไทย 38 คนฆ่าแล้วยกทัพลงมาจะยึดท่าอิด กองทัพเมืองอุตรดิตถ์โดยการนำของพระยาศรีสุริยราชวรานุวัติ เป็นผู้บัญชาทัพ พระยาพิศาลคีรี (ทัพ) ข้าราชการเกษียณอายุแล้วเป็นผู้คุมกองเสบียงส่ง โดยยกทัพไปตั้งรับพวกเงี้ยวที่ปางอ้อ ปางต้นผึ้ง พระยาศรีสุริยราชฯ จึงมอบหมายพระยาพิศาลคีรี เป็นผู้บัญชาการทัพแทน ทั้งนี้เนื่องจากเป็นผู้มีอาวุโสและกรำศึกปราบฮ่อที่หลวงพระบางมามาก พระยาพิศาลคีรีได้สร้างเกียรติคุณให้กองทัพไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยการปราบทัพพวกเงี้ยวราบคาบ ฝ่ายไทยเสียชาวบ้านที่อาสารบเพียงคนเดียว กอปรกับเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีซึ่งเป็นแม่ทัพจากกรุงเทพฯ ยกมาช่วยเหลือ
พ.ศ. 2448-2451 ทางรถไฟได้เริ่มสร้างทางผ่านท่าโพธิ์และท่าเซา ซึ่งขณะนั้นบริเวณนี้ยังเป็นป่าไผ่อยู่ ไม่เจริญเหมือนท่าอิด กรมรถไฟจึงได้สร้างทางรถไฟแยกไปที่หาดท่าอิดล่าง ในปี พ.ศ. 2450 สมัยพระยาสุจริตรักษา (เชื้อ) เป็นเจ้าเมือง ต่อมาในปี พ.ศ. 2454 กรมรถไฟได้สร้างสถานีรถไฟที่บางโพธิ์และท่าเซา ทำให้ท่าโพธิ์และท่าเซาเจริญทางการค้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับที่ท่าอิดน้ำท่วมบ่อย การคมนาคมทางน้ำเริ่มลดความสำคัญลง การค้าที่ท่าอิดเริ่มซบเซา พ่อค้าเริ่มอพยพมาตั่งที่ท่าโพธิ์และท่าเซาเพิ่มมากขึ้น ท่าอิดเมืองท่าที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่ พ.ศ. 1400 ก็มีอันดับสูญไปพร้อมทั้งความทรงจำ ความเจริญของท่าโพธิ์ (บางโพ) ท่าเซา ( ท่าเสา) ค่อยๆ ทอรัศมีสีทองประดุจอาทิตย์ยามรุ่งอรุณตราบเท่าทุกวันนี้
พ.ศ. 2458 สมัยรัชกาลที่ 6จึงประกาศเปลี่ยนชื่อเมืองพิชัยเป็น เมืองอุตรดิตถ์ และ พ.ศ. 2495 จึงเปลี่ยนจากเมืองอุตรดิตถ์มาเป็น จังหวัดอุตรดิตถ์
สภาพภูมิศาสตร์
จังหวัดอุตรดิตถ์อยู่ใต้สุดของภาคเหนือ มีพื้นที่ประมาณ 7,854 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาและที่สูง ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือและทางตะวันออกของจังหวัด ทิวเขาเหล่านี้ต่อเนื่องมาจากจังหวัดแพร่และจังหวัดน่าน
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดแพร่
ทิศตะวันออก ติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีเขตแนวพรมแดน 120 กิโลเมตร
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดพิษณุโลก
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดสุโขทัย
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
ตำรวจท่องเที่ยวพิษณุโลก โทร. 0 5524 5357-8 หรือ 1155
สถานีตำรวจภูธรอุตรดิตถ์ โทร. 0 5544 2370-1, 0 5541 1038
โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ โทร. 0 5541 4484-8
บริษัท ขนส่ง จำกัด โทร. 0 5541 1940
สถานีขนส่ง โทร. 0 5541 1059
สถานีรถไฟ โทร. 0 5541 1023
ที่ว่าการอำเภอเมืองอุตรดิตถ์ โทร. 0 5541 1037, 0 5541 3758
Link ที่น่าสนใจ
สำนักงานจังหวัดอุตรดิตถ์
http://www.uttaradit.go.th
ททท.สำนักงานแพร่ (แพร่ น่าน อุตรดิตถ์)
http://www.tourismthailand.org/phrae
แหล่งข้อมูล :
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี