จังหวัดพิษณุโลก
:ข้อมูลทั่วไป
ที่พักพิษณุโลก{ พบ 9 รายการ }
โรงแรมในจังหวัดพิษณุโลก บ้านคลองรีเจ้นท์พักผ่อนอย่างเป็นสุข สนุกกับความสะบาย ผ่อนคลายกับเรา ทเข้าชม: 924 | ความคิดเห็น: 0
เรน ฟอเรสท์ รีสอร์ทบูติกรีสอร์ทธรรมชาติริมลำน้ำเข็กท่ามกลางผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์เข้าชม: 922 | ความคิดเห็น: 0
ท็อปแลนด์Open in 1993, Topland Hotel takes pride in the quality serviเข้าชม: 921 | ความคิดเห็น: 0
The Grand Riverside HotelThe Grand Riverside Hotel At the heart of the town, staเข้าชม: 923 | ความคิดเห็น: 0
โรงแรมบ้านทะเลแก้ว รีสอร์ตโรงแรมบ้านทะเลแก้ว รีสอร์ต ที่พักสไตล์รีสอร์ต ที่ให้คุณสัมผัเข้าชม: 924 | ความคิดเห็น: 0
Sappraiwan Grand Hotel and ResortWelcome to Sappraiwan Grand Hotel and Resort ทรัพย์ไพรวเข้าชม: 922 | ความคิดเห็น: 0
วนธารา เฮลท์ รีสอร์ท แอนด์ สวนธารา เฮลท์ รีสอร์ท แอนด์ สปา รีสอร์ทสวยริมธารน้ำใส ในอเข้าชม: 924 | ความคิดเห็น: 0
The Rain Forest ResortThe Rain Forest Resort offers luxury accommodation within thเข้าชม: 922 | ความคิดเห็น: 0
โยเดีย เฮอริเทจโยเดีย เฮอริเทจเข้าชม: 927 | ความคิดเห็น: 0
พระพุทธชินราชงามเลิศ ถิ่นกำเนิดพระนเรศวร
สองฝั่งน่านล้วนเรือนแพ หวานฉ่ำแท้กล้วยตาก
ถ้ำและน้ำตกหลากตระการตา
พิษณุโลก มีประวัติศาสตร์อันยาวนานควบคู่กับประเทศไทย โดยมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันในศิลาจารึก ตำนาน นิทาน และพงศาวดาร เช่น สองแคว สระหลวง สองแควทวิสาขะ ไทยวนที เดิมเมืองพิษณุโลกเป็นเมืองเก่าสมัยขอม อยู่ห่างจากที่ตั้งเมืองปัจจุบันลงไปทางทิศใต้ประมาณ 5 กิโลเมตร เรียกว่า "เมืองสองแคว" ที่เรียกเช่นนี้ เพราะตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย คือ แม่น้ำน่านกับแม่น้ำเหตุ แต่ปัจจุบันแม่น้ำแควน้อยเปลี่ยนทางเดินออกห่างจากตัวเมืองไปประมาณ 10 กิโลเมตร ที่ตั้งตัวเมืองเก่าในปัจจุบันคือ บริเวณวัดจุฬามณี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของพิษณุโลก แต่เมื่อประมาณพุทธศักราช 1900 พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ได้โปรด ให้ย้ายเมืองสองแคว มาตั้งอยู่ ณ บริเวณตัวเมืองในปัจจุบัน และยังคงเรียกกันติดปากว่า เมืองสองแคว เรื่อยมา
ภูมิประเทศและภูมิอากาศ
ทางตอนเหนือและตอนกลางเป็นเขตเทือกเขาสูงและที่ราบสูง โดยมีเขตภูเขาสูงด้านตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งอยู่ในเขตอำเภอวังทอง วัดโบสถ์ เนินมะปราง นครไทย และชาติตระการ พื้นที่ตอนกลางมาทางใต้เป็นที่ราบ และตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม โดยเฉพาะบริเวณลุ่มแม่น้ำน่านและแม่น้ำยม ซึ่งเป็นแหล่งการเกษตรที่สำคัญที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก อยู่ในเขตอำเภอบางระกำ อำเภอเมืองพิษณุโลก อำเภอพรหมพิราม อำเภอเนินมะปราง และบางส่วนของอำเภอวังทอง
จังหวัดพิษณุโลกมีลมมรสุมพัดผ่านจากทะเลจีนใต้และมหาสมุทรอินเดีย และแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 3 ฤดู
ฤดูร้อน ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 32 องศาเซลเซียส
ฤดูฝน จะเริ่มประมาณเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ปริมาณน้ำฝน เฉลี่ยประมาณปีละ 1,375 มิลลิเมตร
ฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 19 องศาเซลเซียส
ประวัติศาสตร์
สมัยก่อนกรุงสุโขทัย
ก่อนราชวงศ์พระร่วง ซึ่งมีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นต้นราชวงศ์ขึ้นครองกรุงสุโขทัย เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ราชวงศ์ที่มีอำนาจครอบคลุมดินแดนแถบนี้ คือ ราชวงศ์ศรีนาวนำถม พ่อขุนศรีนาวนำถมเสวยราชย์เมืองเชลียง ตั้งแต่ราว พ.ศ. 1762 พระองค์ทรงมีพระโอรส 2 พระองค์ ได้แก่
- พ่อขุนผาเมือง ครองเมืองราด-เมืองลุม
- พระยาคำแหงพระราม ครองเมืองสรลวงสองแคว
ภายหลังพ่อขุนศรีนาวนำถมสิ้นพระชนม์ ขอมสบาดโขลญลำพงเข้ายึดเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยไว้ได้ พ่อขุนผาเมืองและพระสหาย คือพ่อขุนบางกลางหาวซึ่งปกครองเมืองบางยาง ร่วมกันปราบปรามจนได้ชัยชนะ พ่อขุนผาเมืองจึงยกเมืองสุโขทัยให้ขุนบางกลางหาวตั้งราชวงศ์พระร่วงครองเมืองสุโขทัย และได้เฉลิมพระนามเป็นพ่อขุนศรีอินทราทิตย์
สมัยสุโขทัย
เมืองสองแควอยู่ในอำนาจของราชวงศ์ผาเมือง จนกระทั่งในรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราชจึงได้ยึดเมืองสองแคว ซึ่งเดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุโขทัย
ครั้นสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ได้เสด็จมาประทับที่เมืองสองแคว พระองค์ได้เอาพระทัยใส่ทำนุบำรุงนำความเจริญเป็นอย่างยิ่ง เช่น การสร้างเหมืองฝาย สนับสนุนให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูก สร้างทางคมนาคมจากเมืองพิษณุโลกไปเมืองสุโขทัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการสร้างพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา เพื่อประดิษฐานไว้ใน พระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ (วัดใหญ่)
สมัยอยุธยา
เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยาเสด็จกรีธาทัพมาหมายจะชิงสุโขทัยซึ่งพระยายุทธิษฐิระ (พระอนุชาของพระองค์) ได้ไปสวามิภักดิ์ต่อพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา พระองค์จึงทรงสร้างเมืองใหม่บริเวณเมืองสองแควและเมืองชัยนาท ขนานนามว่า เมืองพระพิษณุโลกสองแคว โดยทรงหมายมั่นปั้นมือ ให้เป็นราชธานีฝ่ายเหนือคู่กับกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยา
พิษณุโลกสมัยอยุธยามีความสำคัญยิ่งทางด้านการเมืองการปกครอง ยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ ศาสนา และศิลปวัฒนธรรม พิษณุโลกเป็นราชธานีในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตั้งแต่ พ.ศ. 2006-พ.ศ. 2031 รวม 25 ปี นับว่าระยะนี้เป็นยุคทองของพิษณุโลก
ในสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ครั้งดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช ณ เมืองพิษณุโลก ระหว่าง พ.ศ. 2112-พ.ศ. 2133 ได้ทรงปลุกสำนึกให้ชาวพิษณุโลกเป็นนักกอบกู้เอกราชเพื่อชาติไทย ทรงสถาปนาพิษณุโลกเป็นเมืองเอก เป็นการประสานต่อความเจริญรุ่งเรืองจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน
ด้านเศรษฐกิจ
เนื่องจากพิษณุโลกตั้งอยู่บนเส้นทางระหว่างรัฐทางเหนือคือล้านนากับกรุงศรีอยุธยาในทางใต้ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐทั้งสองบางครั้งเป็นไมตรีกันบางครั้งขัดแย้งกัน ทำสงครามต่อกัน มีผลให้เมืองพิษณุโลกได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมประเพณีทั้ง 2 รัฐ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจพิษณุโลกเป็นเส้นทางสินค้า ของป่า และผลิตผลทางการเกษตร รวมทั้งเครื่องถ้วย โดยอาศัยการคมนาคมผ่านลำน้ำน่านสู่กรุงศรีอยุธยา ซึ่งขณะนั้นเป็นศูนย์กลางของการค้านานาชาติแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันตกเฉียงใต้ ในปัจจุบันที่พิษณุโลก มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นแหล่งผลิตเครื่องถ้วยคุณภาพดี ซึ่งมีอยู่ทั่วไปบริเวณฝั่งแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย โดยเฉพาะที่วัดตาปะขาวหาย พบเตาเผาเครื่องถ้วยเป็นจำนวนมาก พร้อมเครื่องถ้วยจำพวกโอ่ง อ่าง ไห ฯลฯ เครื่องถ้วยเหล่านี้ นอกจากจะใช้ในท้องถิ่นแล้ว ยังเป็นสินค้าส่งออกไปขายต่างประเทศด้วย วินิจฉัยว่าน่าจะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นับว่าเมืองพิษณุโลกมีความสำคัญยิ่งทางเศรษฐกิจ คือเป็นแหล่งทรัพยากรของกรุงศรีอยุธยา
ด้านการปกครอง
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ จัดระเบียบการปกครองที่เรียกว่า จตุสดมภ์ ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา มีอัครเสนาบดีเป็นผู้ช่วยในการบริหารงานคือ สมุหกลาโหมและสมุหนายก โดยหัวเมืองฝ่ายใต้อยู่ในความดูแลของสมุหกลาโหม และหัวเมืองชายทะเลอยู่ในความดูแลของกรมท่า
ด้านศาสนา
แม้ว่าเมืองพิษณุโลกจะเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในสงครามระหว่างอยุธยากับล้านนาและอยุธยากับพม่ามาตลอด แต่การศาสนาก็มิได้ถูกละเลย ดังปรากฏหลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณสถานชี้ให้เห็นชัดเจนว่า พระพุทธรูปและวัดปรากฏในปัจจุบันเช่น พระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศรีศาสดา วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (วัดใหญ่) วัดจุฬามณี วัดอรัญญิก วัดนางพญา วัดราชบูรณะ วัดเจดีย์ยอดทอง วัดสุดสวาสดิ์ และวัดวังหิน ล้วนเป็นศิลปวัฒนธรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือมิฉะนั้นก็ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ของเดิมที่มีมาครั้งกรุงสุโขทัย แสดงว่าด้านพระศาสนาได้มีการบำรุงมาโดยตลอด
ในปัจจุบัน ทั้งพระพุทธชินศรีและพระศรีศาสดาได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่กรุงเทพมหานคร มีเรื่องเล่ากันว่า จากเดิมจะอัญเชิญพระพุทธชินราชมาด้วย แต่เมื่อเอาลงแพ เตรียมที่จะล่องลำน้ำน่านนั้น แพก็ไม่ยอมเคลื่อนที่ แม้จะตรวจเท่าไร ก็ไม่พบว่าแพติดอะไร แต่แพที่ใช้ในการย้ายก็ไม่ยอมไหลตามน้ำ จึงทำการบวงสรวงขอขมา แล้วนำขึ้นมาประดิษฐานไว้ตามเดิมจนถึงปัจจุบัน ว่ากันว่า ท่านเป็นห่วงเมืองของท่าน จะอยู่ปกป้อง
ในสมัยรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารวัดจุฬามณีขึ้นในปี พ.ศ. 2007 และพระองค์ได้ทรงสละราชสมบัติออกผนวช ณ วัดจุฬามณี อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. 2008 เป็นเวลา 8 เดือน 15 วัน มีข้าราชบริพารตามเสด็จออกบวชถึง 2,348 คน และในปี พ.ศ. 2025 ทรงมีพระบรมราชโองการให้บูรณะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุและให้มีการสมโภชถึง 15 วัน พร้อมกันนั้นได้โปรดให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งมหาชาติคำหลวง จบ 13 กัณฑ์บริบูรณ์ด้วย ต่อมาในสมัยรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองเมื่อ พ.ศ. 2222 และโปรดเกล้าฯ ให้ประดิษฐานไว้ ณ วัดจุฬามณี พร้อมทั้งจารึกเหตุการณ์สำคัญทางศาสนาในสมัยพระบรมไตรโลกนาถไว้บนแผ่นศิลาด้วย
ในส่วนของวัดสุดสวาทดิ์นั้น ว่ากันว่าเป็นวัดที่เก่าแก่สร้างในสมัยเดียวกับวัดนางพญา โดยวัดสุดสวาทดิ์นั้นเป็นวัดที่กษัตริย์ผู้ปกครองเมืองพิษณุโลกสร้างให้กับมเหสีที่รักมากที่สุด จึงตั้งชื่อให้ว่า "สุดสวาท" และมีการสร้างพระนางสุดสวาสดิ์ขึ้นมาด้วย พุทธคุณเท่ากับพระนางพญา วัดนางพญา
ในส่วนของวัดวังหินนั้น ถือว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญทางด้านการทหารในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชอย่างมาก เนื่องจากเป็นวัดที่ใช้ในการจัดทัพและปลุกขวัญกำลังใจให้กับทหาร กำลังพลก่อนที่จะทำการออกศึก โดยวัดนี้ ก็มีการจัดสร้างพระเครื่องที่เชื่อกันว่าถูกสร้างโดยพระนเรศวรด้วย คือ ลีลาวังหิน โดดเด่นทางด้าน คงกระพันชาตรี
ด้านวรรณกรรม
หนังสือมหาชาติคำหลวงได้รับการยกย่องจากวงวรรณกรรมว่า เป็นวรรณคดีโบราณชั้นเยี่ยม นอกจากนี้ยังมีวรรณคดีสำคัญที่นักปราชญ์เชื่อว่านิพนธ์ขึ้นในรัชสมัย สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เช่น ลิลิตยวนพ่าย ลิลิตพระลอ โคลงทวาทศมาส และกำศรวลศรีปราชญ์ เป็นต้น
เมืองพิษณุโลกในสมัยอยุธยา เคยเป็นทั้งราชธานี เมืองลูกหลวง และเมืองเอก ฉะนั้นจึงได้รับความอุปถัมภ์ทำนุบำรุงในทุก ๆ ด้านสืบต่อกันมา นอกจากบางระยะเวลาที่พิษณุโลกอยู่ในสภาวะสงคราม โดยเฉพาะสงครามเสียกรุงศรีอยุธยาทั้ง 2 ครั้ง ความรุ่งเรืองที่เคยปรากฏก็ถดถอยลงบ้าง แต่ในที่สุดก็หล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมของชาวไทย มาจนถึงปัจจุบัน
สมัยกรุงธนบุรี
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงเห็นว่าพิษณุโลกเป็นเมืองยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ควรมีผู้ที่เข้มแข็งที่มีความสามารถเป็นเจ้าเมือง จึงทรงแต่งตั้งเจ้าพระยายมราช (กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์พิษณุวาธิราชสำเร็จราชการเมืองพิษณุโลกโดยขึ้นต่อกรุงธนบุรี เมื่อได้ทรงแต่งตั้งผู้ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือจนครบถ้วนแล้ว จึงเสด็จกลับไปยังกรุงธนบุรี
พ.ศ. 2318 อะแซหวุ่นกี้ แม่ทัพพม่าผู้ชำนาญการรบ ได้วางแผนยกทัพมาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย ตีได้เมืองตาก เมืองสวรรคโลก บ้านกงธานี และมาพักกองทัพอยู่ที่กรุงสุโขทัย ขณะนั้นเจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์กำลังยกกองทัพขึ้นไปตีเชียงแสน เมื่อทราบข่าวข้าศึก จึงรีบยกทัพกลับมารับทัพพม่าที่เมืองพิษณุโลก ก่อนที่อะแซหวุ่นกี้ยกทัพมาตั้งค่ายล้อมเมืองพิษณุโลก
กองทัพพม่าพยายามเข้าตีค่ายไทยหลายครั้ง แต่เจ้าพระยาจักรีและเจ้าพระยาสุรสีห์ได้ช่วยป้องกันเมืองเป็นสามารถ ทั้งที่ทหารน้อยกว่าแต่ไม่สามารถชนะกันได้ อะแซหวุ่นกี้ถึงกับกล่าวยกย่องแม่ทัพฝ่ายไทย และขอให้ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดรบกัน 1 วัน ทหารทั้งสองฝ่ายรับประทานอาหารร่วมกันด้วย เมื่อแม่ทัพไทยและแม่ทัพพม่ายืนม้าเจรจากันในสนามรบ อะแซหวุ่นกี้ก็เห็นรูปลักษณะของเจ้าพระยาจักรีแล้ว จึงได้กล่าวสรรเสริญและบอกเจ้าพระยาจักรีว่า
ท่านนี้รูปงามฝีมือก็เข้มแข็ง อาจสู้รบกับเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตัวไว้ ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์... ...จงรักษาเมืองไว้ให้มั่นคงเถิด เราจะตีเอาเมืองพิษณุโลกให้จงได้ในครั้งนี้ |
||
เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบข่าวอะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพใหญ่มาตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย พระองค์จึงยกทัพใหญ่ขึ้นไปช่วยหัวเมืองฝ่ายเหนือทันที ฝ่ายอะแซหวุ่นกี้ทราบข่าวว่ากองทัพไทยมาตั้งค่ายเพื่อช่วยเหลือเมืองพิษณุโลก จึงแบ่งกำลังพลไปตั้งมั่นที่วัดจุฬามณีฝั่งตะวันตก อะแซหวุ่นกี้เห็นว่าถ้าชักช้าไม่ทันการณ์จึงสั่งให้ทัพพม่าที่กรุงสุโขทัยไปตีเมืองกำแพงเพชร ส่วนกองทัพเมืองกำแพงเพชรไปตีเมืองนครสวรรค์ และสั่งให้กองทัพพม่าอีกกองทัพหนึ่งยกไปตีกรุงธนบุรี การวางแผนของอะแซหวุ่นกี้เช่นนี้ เป็นการตัดกำลังฝ่ายไทยไม่ให้ช่วยเมืองพิษณุโลกและต้องการให้กองทัพไทยระส่ำระสาย
ในที่สุดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีพระราชดำริเห็นว่า ไทยเสียเปรียบเพราะมีกำลังทหารน้อยกว่า จึงควรถอยทัพกลับไปตั้งมั่นรับทัพพม่าที่กรุงธนบุรี เจ้าพระยาจักรีเห็นว่าไทยขาดเสบียงอาหารและใกล้จะหมดทางสู้ จึงตัดสินใจพาไพร่พลและประชาชนชายหญิงทั้งหมด ตีหักค่ายพม่าออกจากเมืองพิษณุโลกไปทางทิศตะวันออกได้สำเร็จ พาทัพผ่าน บ้านมุง บ้านดงชมพู ข้ามเขาบรรทัด ไปตั้งรวมรี้พลอยู่ที่เมืองเพชรบูรณ์
พม่าล้อมเมืองพิษณุโลกนานถึง 4 เดือน เมื่อเข้าเมืองได้ ก็พบแต่เมืองร้าง อะแซหวุ่นกี้จึงสั่งเผาผลาญทำลายบ้านเมืองพิษณุโลกพินาศจนหมดสิ้น คงเหลือเฉพาะวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเท่านั้น
สมัยรัตนโกสินทร์
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้นตั้งแต่ช่วงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนถึงก่อนปฏิรูปการปกครองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังคงจัดระเบียบการปกครองออกเป็นจตุสดมภ์ แต่ในส่วนภูมิภาคมีการแบ่งเขตการปกครองเป็นหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช
เมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นเมืองเอกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในหัวเมืองฝ่ายเหนือของประเทศไทย มีประชากรประมาณ 15,000 คนซึ่งมีชาวจีน ประมาณ 1,112 คน และมีเมืองต่าง ๆ อยู่ในอำนาจการปกครองดูแลหลายหัวเมืองด้วยกัน เช่น เมืองนครไทย ไทยบุรี ศรีภิรมย์ พรหมพิราม ชุมสรสำแดง ชุมแสงสงครามพิพัฒน์ นครชุมทศการ นครพามาก เมืองการ เมืองคำ ประชาชนส่วนใหญ่ ประกอบอาชีพสำคัญ คือ ทำนา ทำไร่ หาของป่า ทำไม้ และการเกณฑ์แรงงานไพร่
พ.ศ. 2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระอุตสาหะเสด็จประพาสเมืองเหนืออีกครั้งหนึ่ง โดยเสด็จทางเรือพระที่นั่งอรรคราชวรเดช และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะนั้นกำลังทรงผนวชเป็นสามเณรก็ได้ตามเสด็จมาด้วย
เมื่อเสด็จถึงเมืองพิษณุโลกได้ทรงประทับและทรงสมโภชพระพุทธชินราชอยู่ 2 วันจึงเสด็จกลับ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 (เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) ได้เสด็จประพาสเมืองพิษณุโลกทุกพระองค์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ ที่พระองค์ได้เสด็จไปทอดพระเนตรในระหว่างเสด็จประพาส เช่น เรื่องเที่ยวเมืองพระร่วง พระราชปรารภเรื่องพระพุทธชินราชและเรื่องลิลิตพายัพ เป็นต้น เอกสารดังกล่าวเหล่านี้ปัจจุบันมีคุณค่าอย่างยิ่งทางด้านประวัติศาสตร์ ส่วนรัชกาลที่ 5 นั้น พระองค์ทรงประทับพระทัยในความศักดิ์สิทธิ์และความสวยงามขององค์พระพุทธชินราช ถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้จำลองพระพุทธรูปพระพุทธชินราชไปเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ซึ่งพระองค์ทรงสร้างขึ้นในสมัยนั้น
ครั้งเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สะพานข้ามแม่น้ำน่านหน้าวัดใหญ่ก็ถูกทิ้งระเบิด แต่ทิ้งเท่าไหร่ก็ไม่ถูกเป้าหมาย ทั้ง ๆ ที่ในอดีต เป็นสะพานไม้ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดพิษณุโลก
ที่ตั้งและอาณาเขต
จังหวัดพิษณุโลกตั้งอยู่ภาคเหนือของประเทศไทยห่างจากกรุงเทพมหานคร 320 กม. มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 10,815 ตร.กม. หรือ 6,759,909 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียงดังนี้
ทิศเหนือ | ติดต่อกับ อำเภอพิชัย อำเภอทองแสนขัน และอำเภอน้ำปาด (จังหวัดอุตรดิตถ์) และแขวงไชยบุรี ประเทศลาว |
ทิศใต้ | ติดต่อกับ อำเภอเมืองพิจิตร อำเภอวชิรบารมี อำเภอสามง่าม และอำเภอสากเหล็ก (จังหวัดพิจิตร) |
ทิศตะวันออก | ติดต่อกับ อำเภอหล่มสัก อำเภอเขาค้อ อำเภอวังโป่ง (จังหวัดเพชรบูรณ์) อำเภอด่านซ้าย และอำเภอนาแห้ว (จังหวัดเลย) |
ทิศตะวันตก | ติดต่อกับ อำเภอกงไกรลาศ อำเภอศรีสำโรง (จังหวัดสุโขทัย) และอำเภอลานกระบือ (จังหวัดกำแพงเพชร ) |
หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ
ประชาสัมพันธ์จังหวัด โทร. 0 5525 1394
โรงพยาบาลพุทธชินราช โทร. 0 5521 9842-4
โรงพยาบาลพิษณุเวช โทร. 0 5521 9941
โรงพยาบาลรวมแพทย์ โทร. 0 5521 9309-10
โรงพยาบาลรัตนเวช โทร. 0 5521 0820-1
โรงพยาบาลอินเตอร์เวชการ โทร. 0 5521 8777, 0 5521 7800
สภอ.เมือง โทร. 0 5525 8777, 0 5522 5491
ตำรวจท่องเที่ยวพิษณุโลก โทร. 0 5524 5357-8
Link ที่น่าสนใจ
ททท.สำนักงานพิษณุโลก
http://www.tourismthailand.org/phitsanulok
สำนักงานจังหวัดพิษณุโลก
http://www.phitsanulok.go.th
ชมรมนักวิทยุ CB57 ร่วมใจ จ.พิษณุโลก
http://www.cb57.net
แหล่งข้อมูล :
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี